วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว





พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กังหันน้ำชัยพัฒนาอันเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รับจดทะเบียนสิทธิบัตรเลขที่ ๓๑๒๗ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ ๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร กังหันน้ำชัยพัฒนา มีส่วนสำคัญในขบวนการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำที่มีประสิทธิภาพในการลดความสกปรกของน้ำสูง แต่ใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสนพระราชหฤทัยใฝ่หาความรู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในเรื่องของการศึกษาหาความรู้ไว้ตอนหนึ่งว่า "...การศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีสิ้นสุด ผู้ปรารถนาความเจริญในการประกอบกิจการงาน จะต้องหมั่นเอาใจใส่แสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ...อีกประการหนึ่งความเจริญของบ้านเมืองนั้นใช่ว่าจะราบรื่นตลอดไป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถปราดเปรื่องแต่เท่านั้นก็หาไม่ ต้องอาศัยสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ร่วมกันคิดอ่านแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดีอีกทางหนึ่ง จึงจะเกิดประโยชน์โดยสมบูรณ์แก่ประเทศชาติ ทั้ง๒ ประการนี้บุคคลส่วนมากทราบกันดี แต่ไม่ค่อยจะนำไปปฏิบัติกัน ในโอกาสนี้จึงขอฝากไว้ให้ท่านทั้งหลายเพื่อนำไปใช้ด้วย..." พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุตสาหะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถประกอบสัมมาอาชีวะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามสถานภาพแห่งตนแล้ว พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติไปนั้นยังเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศเป็นสำคัญอีกประการหนึ่งด้วย และพระราชดำริเกี่ยวกับความเจริญนั้นปรากฏอยู่ในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ ตอนหนึ่งว่า "...ความเจริญนั้นมักจำแนกกันเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุอย่างหนึ่ง และความเจริญทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น ยังเห็นกันว่าความเจริญอย่างแรกอาศัยวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ ส่วนความเจริญอย่างหลังอาศัยศิลปะ ศีลธรรมจรรยาเป็นปัจจัย แท้จริงแล้ว ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจก็ดี หรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับทางด้านศิลปะศีลธรรมจรรยาก็ดี มิใช่สิ่งที่จะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราพยายามจะแยกออกจากกันนั้น มีมูลฐานที่เกิดอันเดียวคือ "ความจริงแท้" ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงจะพยายามแยกจากกันอย่างไร ๆ ที่สุดก็จะรวมลงสู่กำเนิดจุดเดียวกัน แม้แต่จุดประสงค์ก็จะลงสู่จุดเดียวกัน คือความสุข ความพอใจของทุกคน ดังนั้น ท่านทั้งปวงที่กำลังจะนำวิชาการออกไปสร้างความเจริญแก่ตนแก่ชาติ ควรจะได้ทราบตระหนักในข้อนี้ และควรจะถือว่าความเจริญทั้งสองฝ่ายนี้มีความสำคัญอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่เกี่ยวเกาะเกื้อหนุนและอาศัยกัน จำเป็นที่จะต้องพิจารณาพร้อมกันไป ปฏิบัติพร้อมกันไป ความเจริญมั่งคงแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ตามความมุ่งประสงค์..." จากพระบรมราโชวาทแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงบ้านเมืองในเรื่องของการพัฒนาให้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง เพราะทรงตระหนักดีว่าการกระทำสิ่งใดก็ตาม หากหนักไปในทางใดทางหนึ่งแล้วก็ย่อมต้องมีโทษด้วย มิใช่จะเกิดประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว แต่ถ้าจะนำทางสายกลางมาปฏิบัติ ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด เหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงเน้นให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การจะนำพาประเทศชาติไปให้ถึงซึ่งความเจริญอย่างแท้จริงนั้น ควรจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร ซึ่งในส่วนพระองค์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการนั้นก็ทรงยึดแนวทางสายกลางมาโดยตลอดเช่นกัน พระราชกรณียกิจใดที่จะไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น พระราชกรณียกิจนั้นจะไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาด ได้ทรงปฏิบัติให้เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ ก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดความเจริญทางวัตถุ พระราชกรณียกิจทั้งหลายที่ทรงปฏิบัติจึงเป็นพระราชกรณียกิจที่มีแต่พระมหากรุณา ไม่เคยทำให้ผู้ใดต้องได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบพระราชกรณียกิจของพระองค์ เป็นบุญของราษฎรไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระองคอยู่ในทศพธราชธรรม ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ในประเทศไทยนั้น ไม่วาจะเป็นภูมิประเทศส่วนไหนของประเทศ ไม่ว่าดินแดดแห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด จะยากลำบากแค่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระคุณอันประเสริฐของปวงประชาชาวไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ไปทรงเยี่ยมราษฎร มาแล้วทั้งนั้น ทรงบุกป่าฝ่าดง ทรงพระดำเนินขึ้นเขาลงห้วย ก็ล้วนแล้วแต่ทรงปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้นเช่นกัน เหตุที่ทรงปฏิบัติพระองค์ได้เช่นนี้โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับ หรือไม่มีกฎหมายฉบับใดตราไว้ว่าจะต้องทรงปฏิบัติเช่นนั้น หากแต่ทรงเต็มพระราชหฤทัยที่จะทรงประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุที่ทรงรักทรงห่วงใยราษฎร มีพระมหากรุณาต่อราษฎรที่อยู่ในชนบทห่างไกลจากการสาธารณสุข จึงได้ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปในทุกที่ที่ทรงทราบว่าราษฎรกำลังเดือดร้อน เพื่อที่จะได้หาหนทางขจัดหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร หากยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาในขณะนั้นได้ ก็จะทรงรวบรวมข้อมูลไว้ และทรงหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการพระราชทานพระราชดำริให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนราชการได้รับไปดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร หรือหากสามารถขจัดปัญหาและอุปสรรคให้หมดไปได้ก็จิ่งก่อให้เกิดผลดีแก่ราษฎรมากยิ่งขึ้น การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่างไม่ย่อท้อ และไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากที่พระองค์จะต้องทรงได้รับขณะปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นๆนอกจากนั้น ยังมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติชอบอยู่เสมอๆ มิให้เกิดความย่อท้อต่อความยากลำบาก ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๙๗ ความว่า "...ประเทศชาติของเราจะเจริญวัฒนาและสามารถฟันฝ่าอุปสรรคซึ่งอาจมีมาข้างหน้าต่อไปได้ดี ก็ด้วยอาศัยที่ท่านทั้งหลายต้องร่วมใจกันและต่างตั้งหน้าบำเพ็ญความดี มุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นประการสำคัญ บางท่านอาจท้วงว่า ทำดีมิได้อะไร บางคนที่ไม่ทำความดี กลับได้ความสบายก็มี ข้อนี้ถ้าดูแต่เพียงผิวเผิน การอาจเป็นจริงดั่งว่า แต่พึงเชื่อได้ละหรือว่าผู้ที่ทำความไม่ดีนั้นมีความสุขสบายจริง อย่างน้อยในเบื้องลึกแห่งหัวใจของเขาอาจไม่มีสุขเลย หากมีทุกข์อยู่ก็ได้และสุขที่เราเห็นว่าเขามีอยู่นั่นก็เพียงชั่วแล่นเท่านั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า บุคคลใดประกอบความดี คุณความดีนั้นย่อมต้องตอบสนอง...จึงขอชักชวนแต่ละท่าน ให้พยายามบำเพ็ญความดีด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ แม้บางโอกาสอาจจะต้องเสียสละบ้าง ก็จงมานะอย่างท้อถอย จงสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกันให้มั่งคงด้วยดี ทั้งนี้เพื่อความสุขสวัสดีของท่าน และเพื่อความวัฒนาถาวรของประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทั้งหลาย..." พระราชดำรัสที่พระราชทานไว้องค์นี้นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาถึง ๔๖ ปีแล้วแต่ก็เป็นพระราชดำรัสที่ยังคงทันสมัยที่เข้ากันกับเหตุการณ์ในทุกวันี้ได้เป็นอย่างดีหากบุคคลใดนำความในพระราชดำรัสไปไตร่ตรองและคิดให้ลึกซึ้ง ก็จะพบว่าเป็นพระราชดำรัสที่ทรงนำคำสอนที่เป็นสัจธรรมมาให้กำลังใจแก่บรรดาผู้ที่กำลังตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ไม่ดี จะได้เกิดสติ มีความคิด จักได้ใช้ปัญญาแห่งตนเข้าแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในชีวิตของตนให้หลุดพ้นไปได้ โดยที่ใจไม่ต้องกังวลที่จะต้องนำตนไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ดี แต่จงทำดีเพื่อส่วนรวมและตนเอง จึงจะถึงซึ่งความสุขที่แท้จริง มิใช่ความสุขจอมปลอมที่ได้มาโดยการกระทำความชั่ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างสม่ำเสมอตลอดมานานนับแต่เสด็จสถิตอยู่ในสิริราชสมบัติ เพื่อยังให้ราษฎรเกิดความผาสุกเป็นที่ตั้ง ราษฎรถิ่นใดพื้นที่ใดไม่มีที่ทำกินก็ทรงพยายามที่จะหาวิธีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ ราษฎรถิ่นใดเดือดร้อนด้วยภัยธรรมชาติต่างๆ ก็หาทางวิธีบรรเทาความเดือดร้อนให้ ราษฎรถิ่นใดขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ก็ทรงพยายามหาทางให้มีน้ำกินน้ำใช้ ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ เกิดความไม่สงบเรียบร้อยด้วยความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ทรงหาวิธีการประนีประนอมอย่างนุ่มนวลให้หันหน้าเข้าหากัน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายเกิดเหตุลุกลามใหญ่โตต่อไป ถิ่นใดที่เป็นท้องที่ทุรกันดารห่างไกลก็ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมจนถึงที่ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ราษฎรเห็นจนคุ้นตาเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจก็คือ จะมีอุปกรณ์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจติดพระองค์อยู่เสมอ คือกล้องถ่ายรูป แผนที่ แผ่นใหญ่ ดินสอชนิดมียางลบ เครื่องวิทยุมือถือ และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นอยู่เสมอเช่นกัน คือพระเสโทที่ไหลอาบพระพักตร์ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะตรากตรำพระวรการเสด็จพระราชดำเนินไปในทุกสภาพพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศทรงรู้จักราษฎรของพระองค์เป็นอย่างดี ทรงทราบถึงปัญหาและอุปสรรคของราษฎรในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาของแต่ละแห่งเพื่อขจัดหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรถึงแตกต่างกันออกไป แนวพระราชดำริที่พระราชให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการช่วยเหลือราษฎร จึงเป็นแนวพระราชดำริที่มีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วว่าน่าจะเหมาะสมแก่พื้นที่ในแต่ละแห่ง ถึงกระนั้น ก็มิได้ทรงปิดกั้นความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จะทรงเปิดพระราชหฤทัยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ด้วยเหตุนี้เอง โครงการต่างๆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นโครงการที่เกิดจากการรวมพลังความคิดทุกฝ่าย เป็นผลให้โครงการที่ตกลงกันว่าจะทำเป็นโครงการที่สามารถสนองตอบความต้องการของชุมชนนั้นๆได้ดี ซึ่งจะทรงเน้นในเรื่องการประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นประการสำคัญ ดังได้กล่าวแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรด้วยความเต็มพระราชหฤทัยอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก กล่าวได้ว่าที่ใดเดือดร้อน ณ ที่นั่นจะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงให้ความช่วยเหลือ และพระราชกรณียกิจ ที่ทรงปฏิบัตินั้นเล่าก็ล้วนอยู่ในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ ซึ่งธรรมะบรรดานี้ได้ยินได้ฟังกันมานานแล้วโดยไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบิตร ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของราษฎรชาวไทยพระองค์นี้ ได้ทรงนำราชธรรมที่ได้ยินได้ฟังกันมาแต่ก่อนนั้นมาปฏิบัติให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ประจักษ์โดยทั่วกันว่าเป็นธรรมะที่สามารถนำมาปฏิบัติให้ปรากฎเห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ประจักษ์โดยทั่วกันว่าเป็นธรรมะที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ถ้ามีความจริงใจ และปฏิบัติอย่างจริงจังอันบังเกิดผลดีแก่อาณาประชาราษฎร์โดยทั่วหน้ากัน จึงกล่าวได้ว่าเมื่อ "พระยุคลบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข"



พรบ.หมวดที่ 9 เรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
มาตรา ๖๓
รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจาย
เสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการ
ศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา
ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น


มาตรา ๖๔
รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ
สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นโดยเร่งรัดพัฒนาขีดความ
สามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตและพัฒนา
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม


มาตรา ๖๕
ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้
ความสามารถ และทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ
และประสิทธิภาพ


มาตรา ๖๖
เด็กไทยมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาส
แรกที่ทำได้ เพื่อให้มีทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้
ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต


มาตรา ๖๗
รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิด
การใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย


มาตรา ๖๘
ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จากเงินอุดหนุนของรัฐ
ค่าสัมปทานและผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชนรวม
ทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาคน
และสังคมหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิตการวิจัยและการพัฒนา
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๖๙
รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผน ส่งเสริมและประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของการผลิตและการ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา